‘หนังสือของพ่อ’ ผลงานเด็กจิตรกรรม ศิลปากร คว้าประติมากรรมยอดเยี่ยม ‘Art for the King’

        “หนังสือของพ่อ” ผลงานทีม SCULPTURB 68 ซึ่งเป็นการรวมตัวของนักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะจิตรกรรม มหาวิทยาศิลปากร สามารถคว้ารางวัลประติมากรรมยอดเยี่ยม รับทุนการศึกษา 3 แสนบาท จากงานศิลปะเพื่อในหลวง  “Art for the King 2”  โครงการประกวดผลงานประติมากรรมสื่อผสม 3 มิติ สร้างสรรค์จากเศษวัสดุเหลือใช้ ภายใต้โจทย์ “ด้วยเกล้า” ซึ่ง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้จัดขึ้นมาเป็นปีที่ 2 เพื่อเป็นเวทีให้เยาวชนจากทั่วประเทศได้มีโอกาสแสดงความจงรักภักดี และมีส่วนร่วมในการแสดงความคิด ด้วยการสร้างสรรค์งานประติมากรรมที่ได้แรงบันดาลใจจากคำสอนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นศิลป์อนุสรณ์เทิดพระเกียรติ และส่งต่อแรงบันดาลใจให้กับทุกคน โดยได้มีพิธีประกาศผลพร้อมมอบรางวัลไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

โดยได้รับเกียรติจาก นางวิไลวรรณ ทวิชศรี รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว ททท. เป็นประธานในพิธี   ท่ามกลางคณะกรรมการ แขกผู้มีเกียรติ ผู้ให้การสนับสนุน และบรรดากองเชียร์ของศิลปินรุ่นเยาว์ที่มาร่วมงานอย่างคับคั่ง

นางวิไลวรรณ ทวิชศรี รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว ททท. กล่าวเปิดงานว่า นับเป็นความสำเร็จของการจัดโครงการ ศิลปะเพื่อในหลวง  “Art for the King” เป็นปีที่สอง จะเห็นได้จากแบบร่างผลงานประติมากรรมที่เยาวศิลปินจากรั้วมหาวิทยาลัยทั่วประเทศส่งเข้าคัดเลือกกว่า 35 ผลงาน โดยในปีนี้ได้ตั้งโจทย์ในหัวข้อ “ด้วยเกล้า” ที่เป็นต้นแบบก้าวแรกของเยาวชนไทยได้น้อมนำคำสั่งสอน พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่มาใช้ในการเนินชีวิต ซึ่งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิต้องทำงานอย่างหนักที่จะคัดเลือกผลงานที่ดีที่สุด 9 ผลงาน นำไปสร้างสรรค์ผลงานประติมากรรมจริงมาจัดแสดงนิทรรศการและเพื่อให้คณะกรรมการตัดสิน และยิ่งได้เห็นผลงานศิลป์จริงๆ ทำให้ปลื้มใจว่า แม้พวกเขาจะเป็นศิลปินรุ่นใหม่ แต่ก็ได้มีการค้นคว้าศึกษาและเรียนรู้พระราชจริยวัตร พระราชกรณียกิจในด้านต่างๆ อย่างถ่องแท้ จนสามารถนำสร้างสรรค์เป็นผลงานศิลปะอันน่าทึ่ง และผลงานนั้นยังสามารถส่งต่อ สื่อสารกับผู้ชมงานได้เป็นอย่างดี ตรงตามวัตถุประสงค์ของการจัดโครงการทุกประการ

 

“Art for the King 2” โครงการประกวดผลงานประติมากรรมสื่อผสม 3 มิติ สร้างสรรค์จากเศษวัสดุเหลือใช้ ภายใต้โจทย์ “ด้วยเกล้า” เป็นงานทีได้รับแรงบันดาลใจจากพระบรมราโชวาท พระราชดำรัส พระราชกรณียกิจ และพระราชจริยวัตร ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งกลั่นกรองแนวความคิดผ่านรูปแบบของการสร้างสรรค์ชิ้นงานประติมากรรม โดยได้รับเกียรติผู้ทรงคุณวุฒิด้านศิลปะหลากสาขา อาทิ ศาสตรเมธี นนทิวรรธน์  จันทนะผะลิน ศิลปินแห่งชาติปี 49 สาขาประติมากรรม, ศาสตราจารย์เข็มรัตน์ กองสุข ศิลปินแห่งชาติปี 55 สาขาประติมากรรม, รองศาสตราจารย์ ธานินทร์ ตันตระกูล, ติ้ว – วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์, ผู้ช่วยศาสตราจารย์วุฒิกร  คงคา หรือ อาจารย์เด๋อ, ไชยยงค์ รัตนอังกูร บรรณาธิการบริหารนิตยสาร Wallpaper, โหน่ง- คุณวงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ ผู้ก่อตั้งนิตยสาร a day, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สิงห์ อินทรชูโต แห่ง Osisu Trashy design, กิตติรัตน์ ปิติพานิช ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาการออกแบบและธุรกิจสร้างสรรค์ (TCDC)

 

เรียกได้ว่าทำให้คณะกรรมการทำงานยากมากที่สุดเท่าที่เคยตัดสินผลงานศิลปะ เนื่องจากผลงาน 9 ชิ้นที่ผ่านเข้าสู่รอบสุดท้ายนี้ มีความคิดสร้างสรรค์ที่ในการออกแบบและนำเสนอ แต่การระดมสมองของคณะกรรมการตัดสิน ผลปรากฏว่า ผลงาน “หนังสือของพ่อ ของทีม SCULPTURB 68 จากมหาวิทยาลัยศิลปากร คว้ารางวัล “ประติมากรรมยอดเยี่ยม” ไปครองรับทุนการศึกษา 300,000 บาท โล่เกียรติยศ ประกาศนียบัตร และอาจารย์ที่ปรึกษารับเงินรางวัล 20,000 บาท ส่วนผลงาน ผลงาน “พระมหากรุณาธิคุณที่ไม่รู้จบ” ของทีม Sculpture.NU.3 จาก มหาวิทยาลัยนเรศวร คว้ารางวัล “ประติมากรรมดีเด่น” รับทุนการศึกษา 100,000 บาท โล่เกียรติยศ ประกาศนียบัตร และอาจารย์ที่ปรึกษารับเงินรางวัล 10,000 บาท 

สำหรับอีก 7 ผลงาน ได้รับรางวัล ”ประติมากรรมสร้างสรรค์” ได้รับทุนการศึกษาทีมละ 20,000 บาท อาจารย์ที่ปรึกษาได้รับ 5,000 ประกอบด้วย ผลงาน “ทุกลมหายใจ” ทีม Non stop  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่,  , ผลงาน “Matter does not disappear”  ทีม Four monster & One handsome boy มหาวิทยาลัยศิลปากร,  ผลงาน รุ่งอรุณอันอุดม    ทีม PSG art fun มหาวิทยาลัยศิลปากร, ผลงาน “สุข” ทีม A Simple thing มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์,  ผลงาน ใต้ฟ้าเดียวกัน ทีม จปภ1 มหาวิทยาลัยศิลปากร, ผลงาน น้อมสักการะ ทีม ประติชล สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์  และผลงาน เมล็ดพันธุ์แห่งความดี ทีม ปั้นแน่นปึ๊ก สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

นอกจากนี้ยังมีรางวัลพิเศษ ประกอบด้วย รางวัลวิดีโอสร้างสรรค์ยอดเยี่ยม ได้แก่ ผลงาน “บ้านของพ่อ” ของทีม ด้วยใจรัก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รับทุนการศึกษา 30,000 บาท โล่เกียรติยศ ประกาศนียบัตร และอาจารย์ที่ปรึกษารับเงิน 5,000 บาทพร้อมประกาศนียบัตร โดยผลงานวิดีโอชุดนี้นำเสนอแนวคิดที่แสดงให้เห็นว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นแบบอย่างในด้านความพอเพียง การรู้จักใช้อย่างประหยัดและคุ้มค่าจึงเกิดเป็นประติมากรรมจากฟางข้าวอัดแข็งและเศษวัสดุเหลือใช้ๆ อื่นๆ ภายผลงานที่ชื่อว่า บ้านของพ่อ แถมพ่วงด้วยรางวัลขวัญใจมหาชนโซเชียล ซึ่งเป็นผลการตัดสินจากคะแนนโหวตของผู้ชมผ่านทางเว็บไซต์ของโครงการ รับทุนการศึกษา 10,000 บาท ประกาศนียบัตร

อีกหนึ่งรางวัลพิเศษ “ขวัญมหาชน” เป็นคะแนนโหวตของผู้ชมที่มาร่วมชมงานนิทรรศการ “ด้วยเกล้า” ในวันนี้ ซึ่งผลงาน รุ่งอรุณอันอุดม ทีม PSG art fun มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้รับคะแนนจากมหาชนไปอย่างท่วมจน ทำให้ได้รับขวัญใจมหาชน รับทุนการศึกษา 30,000 บาท โล่เกียรติยศพร้อมประกาศนียบัตร

 

          ด้านเยาวศิลปินคนเก่งทีม ทีม SCULPTURB 68 เจ้าของผลงาน “หนังสือของพ่อ” เป็นการรวมตัวกันของนักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะจิตกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้เผยความรู้สึกว่า ดีใจมาก เพราะเป็นการส่งเข้าประกวดครั้งแรกของพวกเขา ใช้เวลากว่า 3 เดือน ตั้งแต่การระดมความคิดในกลุ่ม การค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จนกว่าได้รูปแบบที่ลงตัวและนำเสนอแบบร่างแก่คณะกรรมการ ส่วนการสร้างผลงานประติมากรรมนั้นใช้เวลาเพียงแค่หนึ่งสัปดาห์ โดยผลงานชิ้นนี้มีแนวคิดมากจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงเปรียบเสมือนพ่อที่แบบอย่างที่ดีของลูก เป็นผู้นำที่ดี ทรงช่วยเหลือพสกนิกรทุกหมู่เหล่า จากการศึกษาและค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับโครงการในพระราชดำหลายๆ โครงการ พบว่า พระองค์สามารถทำให้ประชาชนมีความร่วมมือร่วมใจกันลงมือทำในสิ่งที่พระองค์ได้ทรงวางแบบแผนไว้

“ส่วนแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับประติมากรรมเป็นเป็นเด็กหนังอ่านหนังสืออยู่บนกองหนังสือ ซึ่งหนังสือที่เด็กอ่านคือ ‘คำสอนของพ่อ’ ถ้าเราทุกคนอ่านหนังสือของพ่อ นำข้อมูล ความรู้ที่ได้เหล่านั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อตนเองและส่วนรวม หรืออีกนัยหนึ่งคือหากเรามองว่าพระองค์ท่านทรงเป็นแบบอย่างที่ดีและปฏิบัติตามผลดีก็เกิดกับตัวเรา ผลงานประติมากรรมชิ้นนี้ผลิตจากหนังสือเก่าที่ได้รับบริจาค กระดาษลัง กระดาษหนังสือเก่า ก็เหมือนกับพวกเราที่โตไม่ทันเห็นภาพที่พระองค์ท่านทรงงานหนัก แต่เมื่อเราได้ไปศึกษา ไปอ่าน ก็ทำให้พวกเรารู้สึกรักและเทิดทูนว่าพระองค์ท่านทรงทุ่มเทดูแลประชาชนของพระองค์มากแค่ไหน”

ด้านทีม   ทีม Sculpture.NU.3 เจ้าของผลงาน “พระมหากรุณาธิคุณไม่มีที่สิ้นสุด” ที่มาไกลจากมหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก ที่คว้ารางวัลประติมากรรมดีเด่นไปกอดได้ น้องๆ กล่าวถึงผลงานของตัวเองสั้นๆ ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นผู้ให้ที่ยิ่งใหญ่ ให้ความรัก ให้การดูแล ที่จะทำให้พสกนิกรชาวไทยมีความสุข และการให้นั้นก็ไม่มีวันสิ้นสุด ผลงานของพวกเขาจึงออกมาในรูปแบบเชิงสัญลักษณ์ คือ อินฟินิตี้ โดยวัสดุที่ใช้ได้แก่ ขวดกแก้ว ดิน ท่อเหล็ก ท่อ PVC เหลือใช้ เศษเหล็กและพาสติก

 

          มาฟังความคิดเห็นของคณะกรรมการกันบ้าง ศาสตรเมธี นนทิวรรธน์  จันทนะผะลิน ศิลปินแห่งชาติปี 49 สาขาประติมากรรม กล่าวว่า “ก่อนอื่นต้องขอแสดงความยินดีกับทั้ง 9 ทีม เป็นผลงานประติมากรรมที่ไม่อาจมองข้ามไปได้เลย ไม่คิดว่านี่คือฝีมือนักศึกษา ทุกผลงานคือผลงานคุณภาพ ตัวศิลปินเองก็มีความเข้าใจกระบวนการความคิด นำสู่การสร้างรูปทรงที่สามารถสื่อความหมายได้ดีทุกผลงานจึงมีคุณค่า แต่ที่สำหรับผลงาน หนังสือของพ่อ ของทีม SCULPTURB 68 ที่ได้นั้น เป็นเพราะผลงานของพวกเขาสามารถสื่อสารได้ชัดเจนมากที่สุด คนสร้างผลงานเขารู้ว่าเขาต้องการสื่ออะไร ใช้รูปลักษณะแบบไหนที่จะสื่อออกไปแล้วผู้ชมหรือผู้รับสารก็สามารถเข้าใจได้ทันที”

ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สิงห์ อินทรชูโต อาร์ตตัวพ่อด้านการออกแบบจากเศษวัสดุเหลือใช้ ให้ทรรศนะถึงผลงานของเยาวชนที่ส่งผลงานเข้าประกวดในครั้งนี้ว่า “จาก 30 กว่าชิ้นงาน ผลงานประติมากรรมที่ผมคัดเลือกมีความชัดเจนด้านการนำเสนอนวัตกรรม มีการอธิบายความคิดที่ชัดเจน ซึ่งส่วนนี้จะช่วยพัฒนาเยาวชนไทยในอนาคตแน่นอน เพราะการอธิบายความคิดเป็นกระบวนการที่แยบยล เด็กๆ จะต้องอธิบายและสื่อออกมาเป็นชิ้นงานให้ได้ งาน Art for the King ถือเป็นเวทีที่ช่วยฝึกและพัฒนาเด็กๆ ในเรื่องศิลปะได้เป็นอย่างดี   ผลงานของน้องๆ มีใช้วัสดุรีไซเคิลที่แปลกๆ เข้ามาใช้ในชิ้นงาน เช่น การใช้เปลือกไข่ เศษหนัง ถุงพลาสติกจากนมโรงเรียน มีการผสมผสานเทคนิคต่างๆ มาเสริมในชิ้นงาน ทั้งใบพัด หรือสายพาน ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพราะหลายคนอาจจะมองว่าวัสดุเหลือใช้เป็นของต่ำต้อย แต่น้องๆ สามารถนำวัสดุเหล่านี้มารังสรรค์ผลงาน Art for The King เพื่อพระราชา มองว่าเป็นกระแสที่นำของเหล่านี้มาทำให้มีคุณค่า ผมรู้สึกขอบคุณน้องๆ และขอบคุณผู้จัดที่เห็นความสำคัญของสิ่งเหล่านี้  ผมมองว่าการนำเศษวัสดุเหล่านี้มาทำอะไรใหม่ๆ เป็นประเด็นสำคัญที่สังคมไทยสังคมโลกควรให้การสนับสนุนต่อไปครับ”

 

อ.เด๋อ-ผู้ช่วยศาสตราจารย์วุฒิกร  คงคา  ตัวแทนของศิลปินรุ่นใหม่  กล่าวว่า  “ผลงานของน้องๆ ค่อนข้างมีความหลากหลายของวัสดุที่ใช้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่เด็กๆ สามารถทำงานจากโจทย์ของวัสดุที่ใช้และนำมาร้อยเป็นเรื่องราวพระราชกรณียกิจของในหลวง  ซึ่งมองว่างานนี้จะช่วยให้เด็กเหล่านี้มีประสบการณ์ และสามารถพัฒนางานประติมากรรมได้ดียิ่งขึ้นในอนาคต  โดยรวมถือเป็นผลงานที่น่าชื่นชม   ผมเห็นว่างาน Sculpture หรืองาน ประติมากรรมเป็นโครงการที่ไม่ค่อยจัดการประกวด ชิ้นงานด้านประติมากรรมจะเป็นชิ้นงานที่สร้างอิมแพค ให้กับสถานที่ได้ดีมากผมอยากให้มีการส่งเสริมงานด้านนี้เพิ่มมากขึ้น  โดยเฉพาะการประกวดประติมากรรม  Art for the King มองว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีให้กับเยาวชน  ”

 

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมดีๆ เกิดขึ้นภายในงานอีกมากมาย อาทิ กิจกรรมเสวนากับ ไอดอล หรือบุคคลต้นแบบที่เริ่ม “ก้าวแรก” ในการเดินตามรอยคำสอนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จนประสบความสำเร็จในชีวิตการทำงาน และชีวิตส่วนตัว เพื่อจุดติดแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนไทยและผู้มาร่วมงานทุกคน อาทิ คุณดนัย จันทร์เจ้าฉาย  คุณโหน่ง วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์   และกระทบไหล่ศิลปิน นักแสดงชื่อดังมากมาย เช่น เก้า จิรายุ, ฮั่น The star  ร่วมกิจกรรมเวิร์คช็อปกับศิลปินชื่อดัง เวิร์คช้อปศิลปะที่เปิดโอกาสให้น้องๆ จากบ้านนกขมิ้น และสถานสงเคราะห์เด็กพิการและทุพพลภาพปากเกร็ด (บ้านนนทภูมิ) และผู้ร่วมชมงานได้เรียนรู้งานศิลปะกับเหล่าศิลปินและครูศิลปะชื่อดัง อาทิ เวิร์คช็อป DIY จากวัสดุเหลือใช้

ทั้งนี้ผู้ที่ต้องการร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแสดงพลังความจงรักภักดีผ่านผลงานศิลป์ “Art for the King 2”  สามารถไปชมผลงานประติมากรรมทั้ง 9 เพื่อค้นหาแรงบันดาลใจและส่งต่อแรงบันดาลใจที่ได้จากงานนี้ได้ที่ จนถึงวันที่ 30 พฤษภาคม 2557 ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ 

 

ที่มา:  ประชาสัมพันธ์โครงการ Art for the King
บันทึกภาพ:  ประชาสัมพันธ์โครงการ Art for the King
นำเสนอโดย www.starupdate.com หากนำข่าวไปใช้กรุณาอ้างอิงถึง www.starupdate.com ด้วย
ข่าวนี้อยู่ในหมวด PR Update และ Tag: , , ติดตาม comment ของข่าวนี้ผ่านทาง RSS feed
Trackbacks are closed, but you can post a comment.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง